วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

บทความทางวิชาการ"เสน่ห์ทางคณิตศาสตร์"


ถ้าถามว่าคณิตศาสตร์หมายถึงอะไร คำตอบคงจะแตกต่างกันไปตามความเข้าใจและประสบการณ์ของแต่ละคนที่ได้รับมา แต่ทราบไหมครับว่า...คณิตศาสตร์นั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น ?? หากย้อนกลับไปประมาณหลายพันปีศาสตร์นี้เกิดมาจากชาวบาบิโลน และได้รับการพัฒนาต่อโดยชาวกรีก ชาวกรีกเป็นนักคิด ชอบการให้เหตุผล ชอบศึกษาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา คำว่า “Mathematics” เองก็มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ซึ่งมีความหมายว่า "ความรักที่จะเรียนรู้" รักที่จะเรียน เรียนเพื่อที่จะรู้ ซึ่งเส้นทางการเรียนรู้มีมากมายให้เราได้เลือกครับ จากหนังสือตำรา อินเทอร์เน็ต จากการพูดคุยสนทนาสังสรรค์ แม้แต่ “การสอบก็เป็นการเรียนรู้รูปแบบหนึ่ง” แม้จะเป็นการเรียนรู้ที่แถมความเครียดมาด้วยก็ตาม
เริ่มต้นภาคเรียนที่ 2 ผมได้นำนักเรียนเข้าร่วมสอบการแข่งขันทางคณิตศาสตร์ทั้งหมด 3 รายการครับที่เพิ่งผ่านไปก็คือโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่จัดสอบโดย สสวท. ก่อนหน้านี้ เป็นการสอบแข่งขันการคิดและการแก้ปัญหา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครจัดขึ้น และตามด้วยการสอบแข่งขันที่จัดโดยสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมป์ 3 รายการที่ผ่านมา...ถามว่ายากไหม ?? ขุนชำเลือง ชำนาญลอกในอดีตอย่างครูมนูญ ยังยอมรับเลยครับว่า “take it easy ง่ายสำหรับคุณ” ยิ่งเป็นข้อ 11(3) ยากที่สุดครับ เพราะข้อสอบเป็นข้อสอบที่มีมาตรฐานสูงที่สร้างโดยผู้เชี่ยวชาญ จะอาศัยความรู้รอบโต๊ะหรือ Verb to เดา อย่างเดียวคงจะไม่ได้ ดังนั้นเรามักได้ยินคำถามอยู่เสมอเมื่อสอบเสร็จว่า ”ทำได้” หรือ “ได้ทำ” แต่จะทำได้หรือเพียงแค่ได้ทำ ผมคิดว่าดีกว่า ”ไม่ได้ทำ” หรือดีกว่า ”ไม่ได้เข้าสอบแข่งขัน” เพราะอย่างน้อยนักเรียนก็มีเวทีในการแสดงออกเชิงวิชาการ (ความรู้) และได้ขยายพื้นที่ทางปัญญาให้กว้างขึ้น (ประสบการณ์) นอกจากเป็นการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งอย่างที่กล่าวแล้ว ที่สำคัญยังเป็นการพัฒนาตนเองอีกด้วยครับ
คงไม่ปฏิเสธนะครับว่า...การเข้าร่วมสอบแข่งขันทางคณิตศาสตร์นั้นไม่ยาก แต่การเตรียมตัวเรียนรู้สู่การแข่งขันเพื่อเปลี่ยนนักเรียนจากที่”ได้ทำ” มาเป็น ”ทำได้บ้าง” ตรงนี้แหละที่มันยาก ครูผู้สอนคณิตศาสตร์ต้องอดทน ตื่นตัวศึกษาเรียนรู้เทคนิควิธีการสอน การถ่ายทอดให้นักเรียนเข้าใจอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรามัวแต่ ”หลับสนิท ศิษย์คงส่ายหน้า” ครับ อีกทั้งตัวนักเรียนเองต้องรักที่จะเรียนรู้ ชอบคิด ชอบแก้ปัญหา เราอาจจะเริ่มต้นด้วยการซ่อมพื้นฐานในการคิด เช่น การบวกลบคูณหารเศษส่วนทศนิยม ต่อจากนั้นก็เสริมทักษะการคิด ด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การตัดตัวเลือก การแทนค่า การตรวจเดา เป็นต้น นำข้อสอบของปีที่ผ่าน ๆ มา อย่างน้อย 5 ปีย้อนหลัง มาเป็นแนวทางในการเตรียมตัวสอบ ทุกอย่างต้องใช้เวลา ยิ่งการแข่งขันในระดับนี้ บางทีอาจต้องเตรียมตัวกันเป็นปีครับ
ครูมนูญ ได้เตรียมนักเรียนเพื่อเข้าสอบแข่งขันทางคณิตศาสตร์ที่ สสวท.จัดขึ้น และได้นำข้อสอบของปีที่แล้วมาเป็นแนวทางในการสอบ ตามที่ผมแนะนำ คำถามมีอยู่ว่า
ซื้อโทรทัศน์และพัดลมรวมเป็นเงิน 5,000 บาท ถ้าพัดลมราคา 1,200 บาท แล้วราคาของโทรทัศน์เป็นเท่าใด ?
“ให้นักเรียนเลือกคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงข้อเดียวเท่านั้น” ครูมนูญย้ำ “ถูกที่สุด”
ก. 5,800 บาท ข. 4,800 บาท ค. 3,800 บาท ง. 2,800 บาท
พออ่านโจทย์จบ ด.ช.จักกริช จำสร้อย ก็เลือกตอบข้อ ง. ทันทีโดยไม่ลังเล
ครูมนูญเห็นดังนั้นจึงเอ่ยถามด้วยความแปลกใจว่า "จักกริช เพราะอะไรเธอจึงเลือกข้อ ง. ไหนลองบอกครูหน่อยซิ"
”ผมดูๆ แล้วซื้อโทรทัศน์ในราคา 2,800 บาทก็ถูกที่สุดแล้วนี่ครับ”

2 ความคิดเห็น:

  1. รูปเด็กนักเรียนในห้องที่สอนอะป่าว เรียบร้อยจัง สงสัยกำลังสอบอยู่ ....

    ตอบลบ